72 ปี ยนต์ผลดี

นายกานต์ จิตสุทธิภาภร
(ผู้จัดการทั่วไป บริษัทยนต์ผลดีจำกัด)

สารจากผู้บริหาร

โลกกำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลง หลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ซึ่งภายใต้สถานการณ์วิกฤติที่คุกคามธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันเป็นรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน สำหรับ บริษัทยนต์ผลดี จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 70 ปี และผ่านเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจมาแล้วหลายเหตุการณ์ ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือ “บททดสอบความจำเป็น”ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วเช่นนี้ ผู้บริหารบริษัท ได้มีความตระหนักถึงการเตรียมรับมือและปรับตัวให้เข้ากับทิศทางความต้องการของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม เมื่อโจทย์จากผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำอย่างไรเราจึงดำรงรักษาธุรกิจของตนเองไว้ได้ และยังสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตให้แก่ธุรกิจในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ได้

Q: ปรับตัวอย่างไร จึงทำให้สามารถดำรงรักษาธุรกิจได้มากว่า 70 ปี

A: อันนี้ต้องพูดถึงอดีตที่ผ่านมา โดยแบ่งยุคจากการปรับตัวขององค์กรออกเป็น 4 ระยะ เริ่มจาก

  • ระยะที่ 1 ที่เราก่อสร้างธุรกิจในสมัยประเทศไทยยังมีอุตสาหกรรมน้อยมาก ซึ่งเราเริ่มธุรกิจมาจากการเป็นโรงหล่อเหล็ก ฉะนั้นในการทำโรงหล่อนี้ถือเป็นอุตสาหกรรมแรกที่เราเริ่มก่อร่างสร้างตัว
  • ระยะที่ 2 เมื่อเครื่องจักรอุตสาหกรรมสีข้าวเริ่มถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เราจึงปรับตัวเองจากโรงหล่อเหล็กที่หล่อแต่อะไหล่ มาผลิตเครื่องจักรเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์มาพัฒนาเครื่องจักรผลิตใช้ในประเทศไทยในแบรนด์ยนต์ผลดี เพื่อเป็นการลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว
  • ระยะที่ 3 หรือช่วงปีที่ 40 ของ บริษัท ยนต์ผลดี เป็นยุคที่สมาชิกในครอบครัวของเราที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเริ่มกลับมาช่วยงานในองค์กรมากขึ้น และขยายตัวด้วยการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศ และเริ่มนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามายังอุตสาหกรรมสีข้าว เพื่อให้ครบวงจรมากขึ้น
  • ระยะที่ 4 หรือช่วงปี 60 เป็นต้นมา คือ ยุคที่มีสมาชิกรุ่นที่ 3 รวมถึงตัวผมเองเข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งถือว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราแทบจะปรับตัวอยู่ตลอด โดยเฉพาะการปรับระบบการบริหาร การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเครื่องจักรใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสีข้าว โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรม นั้น จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนได้
Q: รับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และโควิดอย่างไร

A: ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเจอเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอัตราการปรับตัวของเศรษฐกิจตกต่ำมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีและวันนี้ก็ยังมาซ้ำด้วยโควิดอีก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะที่ 4 ขององค์กรนั้น สิ่งสำคัญที่เราทำอย่างแรกเลยคือ สร้างความเข้าใจกับทุกคนในองค์กรว่าเราต้องพัฒนาตัวเราเองให้มีทักษะสอดคล้องกับเทคโนโลยีและวิถีการทำธุรกิจแบบใหม่

เรามีการปรับปรุงระบบ เช่น เราเริ่มทำ ISO ก่อนให้องค์กรอยู่ในมาตรฐานขั้นพื้นฐานที่สุด ทำการปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรในองค์กร ที่เรียกว่า MRP หรือ ERP เพื่อจะรู้ต้นทุน รู้บัญชีของตนเอง เช่น กำไร รายได้ รายจ่าย ให้ละเอียดมากที่สุด

ทั้งนี้เพื่อ 2เป้าหมายคือ 1. ลดต้นทุนที่สูญเสียในองค์กรให้ลดลง  2. เพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ถือเป็น 2 ทางเท่านั้นที่จะทำให้รักษาธุรกิจอยู่ได้ในขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายนอกนั้นไม่ได้เอื้ออำนวยกับเรา กล่าวคือเราปรับตัวเองและปรับระบบบริหารภายในก่อน

Q: เราจะสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตให้แก่ธุรกิจในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นนี้ได้อย่างไร

เมื่อเราทำความเข้าใจแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะมีมีผลกระทบต่อองค์กรเราระยะยาว โดยได้วิเคราะห์แล้วว่าเราจะต้องให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยี และก็เป็นนโยบายของประเทศไทยเองอีกด้วยที่เน้นเรื่องของนวัตกรรม ซึ่งเราเองก็มีความใส่ใจกับนวัตกรรมเหมือนกัน เราจึงมีการร่วมพัฒนาเครื่องจักรใหม่ที่ไม่เคยมีมาเลยในอุตสาหกรรมสีข้าว ได้แก่ เครื่องกำจัดมอดในข้าวสารด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อให้เกิด New S-Curve หรือว่า เป็นวงจรการเติบโตใหม่ของธุรกิจให้ได้ สรุปได้ว่าเมื่อปรับตัวเองเสร็จ เราจะมุ่งเน้นนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งเรากำลังทำอยู่ในช่วงระยะที่ 4และเราเชื่อว่า ระยะที่ 4 นี้จะมีเวลาสั้นกว่า ระยะก่อนหน้าเพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็ว ถ้าเราผ่านช่วงที่ 4 นี้ได้สำเร็จ ยนต์ผลดีน่าจะเป็นองค์กรที่ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวที่มีนวัตกรรมมาเสริม เพื่อสร้างให้เสมอเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่าง นวัตกรรมที่เราทำอยู่ตอนนี้ ได้แก่

  1. เครื่องกำจัดมอดในข้าวสารด้วยคลื่นวิทยุ BiO-Q 2.โรงสีข้าวน๊อคดาวน์ขนาด 1 ตันต่อชั่วโมง 3.เทคโนโลยี IOT ควบคุมบริหารประสิทธิภาพของเครื่องจักรผ่านระบบออนไลน์

โดยรวมคือเราพยายามทำให้ธุรกิจโรงสี เข้าถึงง่าย สำหรับคนที่ตัวเล็กลง เช่น สหกรณ์  วิสาหกิจชุมชน ก็สามารถที่จะสีข้าวมีคุณภาพสูงโดยที่ใช้เครื่องมือ เครื่องจักรขนาดเล็กลง แต่ว่ามีความสามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรใหญ่ได้ และลูกค้าสามารถมอนิเตอร์เครื่องจักรลูกค้าจากอินเตอร์เน็ตได้ว่า เครื่องจักรทำงานได้ดีอยู่หรือเปล่า และมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น